วันพฤหัสบดีที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2556

Middle East (ตะวันออกกลาง)

 Middle East (ตะวันออกกลาง)


ประวัติตะวันออกกลาง(Middle East)
ตะวันออกกลาง เป็นคำจำกัดความภูมิภาคอย่างกว้าง ๆ จึงไม่มีการกำหนดขอบเขตพรมแดนของอาณาบริเวณของภูมิภาคนี้ไว้อย่างเจาะจง แต่โดยทั่วไปแล้วเป็นที่เข้าใจกันว่า ภูมิภาคตะวันออกกลางนั้นจะครอบคลุมพื้นที่ประเทศต่าง ๆ ดังนี้คือ บาห์เรน อียิปต์ อิหร่าน ตุรกี อิรัก อิสราเอล จอร์แดน คูเวต เลบานอน โอมาน กาตาร์ ซาอุดีอาระเบีย ซีเรีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เยเมน และดินแดนปาเลสไตน์ (เวสต์แบงก์และฉนวนกาซา)
กลุ่มประเทศมาเกร็บ (Maghreb หรือแอฟริกาตะวันตกเฉียงเหนือ ซึ่งประกอบด้วยแอลจีเรีย ลิเบีย โมร็อกโก และตูนีเซีย) มักถูกเชื่อมโยงเข้าเป็นส่วนหนึ่งของตะวันออกกลางด้วย เนื่องจากมีประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมเชื่อมโยงใกล้ชิดกันมาก ซึ่งก็รวมทั้งซูดาน มอริเตเนีย และโซมาเลียด้วยเช่นกัน
ขณะที่ตุรกีและไซปรัสนั้น แม้ว่าโดยสภาพทางภูมิศาสตร์แล้วจะตั้งอยู่ภายในภูมิภาค แต่ทั้ง 2 ชาติก็มักจัดให้ประเทศตนว่าเป็นส่วนหนึ่งของยุโรปมากกว่า (แม้ว่ามหาวิทยาลัยเทคนิคตะวันออกกลางจะตั้งอยู่ในกรุงอังการา ประเทศตุรกีก็ตาม) ส่วนทางตะวันออกคือประเทศอัฟกานิสถานนั้น บางครั้งก็ถูกจัดโยงเข้ากับตะวันออกกลางด้วย
นักวิชาการบางส่วนให้คำจำกัดความภูมิภาคตะวันออกกลางโดยผ่านมุมมองจาก ศูนย์กลางยุโรป (Eurocentrism) นั่นคือ ภูมิภาคนี้จะอยู่ทางตะวันออกถ้าพิจารณาจากมุมมองของยุโรปตะวันตก ขณะสำหรับชาวอินเดียนั้น ภูมิภาคตะวันออกกลางจะตั้งอยู่ทางตะวันตกของอินเดีย และตั้งอยู่ทางใต้ในมุมมองจากประเทศรัสเซีย
แท้จริงแล้วคำว่า "กลาง (Middle)" นั้น ยังนำไปสู่ความสับสนด้วยเช่นกันเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงคำจำกัดความ ตัวอย่างเช่น ช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 คำว่า "ตะวันออกใกล้ (Near East)" ที่ใช้กันในภาษาอังกฤษมีความหมายถึงประเทศในคาบสมุทรบอลข่านและจักรวรรดิออตโตมาน (Ottoman Empire) ในขณะที่คำว่า "ตะวันออกกลาง (Middle East)" หมายความถึงประเทศเปอร์เซีย อัฟกานิสถาน และบางครั้งก็รวมถึงเอเชียกลาง เตอร์กีสถาน และคอเคซัสเอาไว้ด้วย (ตะวันออกไกล (Far East) หมายถึงประเทศอย่างเช่นมาเลเซีย สิงคโปร์ ซึ่งตั้งอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้)
การล่มสลายของจักรวรรดิออตโตมานในปี ค.ศ. 1918 จึงไม่มีการใช้คำว่า "ตะวันออกใกล้" กันอีก ในขณะที่คำว่า "ตะวันออกกลาง" นั้น ก็นำไปใช้หมายถึงประเทศที่เกิดขึ้นใหม่ในโลกอาหรับ แต่อย่างไรก็ตาม การใช้คำว่าตะวันออกใกล้ก็ยังใช้กันอยู่ในหมู่นักวิชาการบางสาขาที่เคร่ง ครัดหลักการ เช่น ด้านโบราณคดีและ ประวัติศาสตร์โบราณ ซึ่งยังคงอธิบายพื้นที่ที่ควรระบุเป็นตะวันออกกลาง ว่าเป็น "ตะวันออกใกล้" ทั้งนี้เนื่องจากนักวิชาการเหล่านั้นจะไม่ใช้คำว่า "ตะวันออกกลาง" ในสาขาวิชาของตน
ตะวันออกกลาง ได้กลายเป็นศูนย์กลางแห่งกิจกรรมต่าง ๆ ของโลกเริ่มตั้งแต่ช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา และปัจจุบันนี้ก็ยังคงความเป็นภูมิภาคที่มีความอ่อนไหวมากที่สุดของโลก ทั้งในด้านยุทธศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ การเมือง และวัฒนธรรม เนื่องจากเป็นภูมิภาคที่มีแหล่งสำรองน้ำมันดิบอยู่ใต้ดินจำนวนมหาศาล และยังเป็นแผ่นดินเกิดและศูนย์กลางทางจิตวิญญานของศาสนาสำคัญหลายศาสนา เช่น ศาสนายูดาย ศาสนาคริสต์ ศาสนาอิสลาม เป็นต้น ยิ่งกว่านั้น ภูมิภาคแห่งนี้ยังเป็นพื้นที่ที่ปัญหาความขัดแย้งระหว่างชาวอาหรับและ อิสราเอลเกิดขึ้นและดำรงอยู่ต่อมายาวนา

ขนาดพื้นที่และลักษณะภูมิประเทศของตะวันออกกลาง

พื้นที่ทั้งหมดของตะวันออกกลาง (ตามความหมายแรก) มีจำนวนประมาน 7.3 ล้าน ตร.กม.(2.8 ตร.ไมล์) ลักษณะภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นทะเลทราย ที่ราบและที่ราบสูง ทะเลทรายที่สำคัญๆได้แก่ ทะเลทรายรุบอฺอัลคอลี(Rub‘ al Khali) ทางตอนใต้ซาอุดีอาระเบียทะเลทรายอาระเบียน (Arabian Desert) ในอียิปต์ ทะเลทรายซีเรียน (Syrian Desert) ที่ครอบคลุมพื้นที่ตรงกลางระหว่างประเทศซีเรีย จอร์แดน อิรักและซาอุดีอาระเบียทะเลทรายอันนาฟูด(AnNafud) ทางตอนเหนือซาอุดีอาระเบีย และทะเลทรายการากุม (Kara Kum Desert) ในอัฟกานิสถาน
      ตะวันออกกลางมีเทือกเขาที่สำคัญๆได้แก่ เทือกเขาพอนตุส (Pontus Mts.) และเตารุส (Taurus Mts.) ในตุรกี เทือกเขาเอลเบอร์ซ (Elburz Mts.) และเซกโรส (Zagros Mts.) ในอิหร่านและเทือกเขาต่างๆแถบภาคเหนือของอิรัก เทือกเขาฮีญาซ (Hejaz Mts.) และเทือกเขาอะศิร (Asir Mts.) แถบตะวันตกซาอุดีอาระเบีย ฯลฯ
      ที่ราบส่วนใหญ่อยู่ในบริเวณที่เรียกว่า ดินแดนพระจัทร์เสี้ยวที่อุดมสมบูรณ์” (the Fertile Crescent) บริเวณเดลตาของอียิปต์และแถบชายฝั่งทะเลทั่วไป
      น่านน้ำและทะเลน้ำเค็มที่ติดต่อหรืออยู่ในตะวันออกกลางได้แก่ ทะเลแดง (Red Sea)อ่าวเปอร์เซียหรืออ่าวอาหรับ (Persian Gulf or Arabian Gulf) ทะเลอาระเบีย (Arabian Sea) อ่าวเอเดน (Gulf of Aden) และมหาสมุทรอินเดีย (Indian Ocean) ทางตอนใต้ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน (Mediterranean Sea) ทางทิศตะวันตก ทะเลดำ (Black Sea) และทะเลสาบเคสเปียน (Caspian Sea) ทางตอนเหนือ และทะเลเดดซี (Dead Sea) ที่ตั้งอยู่ระหว่างจอร์แดนและอิสราเอลในมุมมองภูมิศาสตร์กายภาพ คำว่า ตะวันออกกลาง” (Middle East) หมายถึง ภูมิภาคหรือดินแดนนับจากอียิปต์ทางตอนเหนือแอฟริกาจนถึงอิหร่าน ประเทศต่างๆในดินแดนนี้มีดังต่อไปนี้คือ อียิปต์ ซูดาน ซาอุดีอาระเบีย เยเมน โอมาน คูเวต กาตาร์ สหรัฐอาหรับอีมิเรตส์ บะห์เรน อิสราเอล จอร์แดน ซีเรีย อิรัก เลบานอน ปาเลสไตน์ ตุรกีและอัฟกานิสถาน
      ในมุมมองภูมิศาสตร์วัฒนธรรม คำว่า ตะวันออกกลางหมายถึง พรมแดนวัฒนธรรมอันเป็นแหล่งกำเนิดและรุ่งเรืองของศาสนาต่างๆ อาทิเช่น ศาสนายูดาย ศาสนาคริสต์ ศาสนาโซโรเอสเตอร์ และศาสนาอิสลาม เป็นต้น
      ความหมายนี้อาจรวมชาติอื่นๆที่ตั้งอยู่ใกล้เคียงหรือรายล้อมตะวันออกกลาง ได้แก่ มอรอกโก แอลจีเรีย ตูนิเซีย ลิเบียและปากีสถานฯลฯ โดยเหตุที่ชนชาติเหล่านี้ส่วนใหญ่มีวัฒนธรรมและวิถีการดำเนินชีวิตไม่แตกต่างกับตะวันออกกลาง ความหมายในมุมมองวัฒนธรรมจึงทำให้ภูมิภาคตะวันออกกลางกว้างใหญ่ยิ่งขึ้นทั้งในมิติด้านพื้นที่และจำนวนประชากร
นอกจากคำว่าตะวันออกกลางแล้ว คำอื่นๆที่ใช้เรียกตะวันออกกลาง คือ เอเชียตะวันตก (West Asia) เอเชียตะวันตกเฉียงใต้ (Southwest Asia) ตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ (Middle East and North Africa) ตะวันออกใกล้ (Near East) โลกอาหรับ (Arab World) โลกอิสลาม (Islamic World) โลกมุสลิม (Muslim World) และเอฟโรยูเรเซีย (Afro-Eurasia)
                                   แผนที่แสดงปริมาณฝนตกในตะวันออกกลาง

ลักษณะภูมิอากาศของตะวันออกกลาง
ถึงแม้พื้นที่ส่วนใหญ่ของตะวันออกกลางตั้งอยู่ในบริเวณเขตร้อนและแห้งแล้งของโลกก็ตาม แต่ความแตกต่างของสภาพภูมิอากาศ(climatic conditions) ก็ยังเป็นปรากฏการณ์ทั่วไปที่สามารถเห็นได้ชัด ทั้งนี้เพราะว่าตะวันออกกลางเป็นภูมิภาคที่กว้างใหญ่ครอบคลุมเส้นละติจูด (Latitudes) หลายเส้นและมีความหลากหลายทางด้านลักษณะภูมิกายภาพ (physical diversity) 
      ดินแดนทางภาคใต้สุดของภูมิภาคนี้ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของเส้น ทรอปปิก ออฟ แคนเซอร์(Tropic of Cancer) ซึ่งเป็นบริเวณที่ภูมิอากาศร้อนที่สุดของโลก ในขณะที่ภาคเหนือสุดของอิหร่านและตุรกีมีลักษณะภูมิอากาศอบอุ่น (moderate conditions) ทางภาคตะวันออกของภูมิภาคตะวันออกกลางมีลักษณะภูมิอากาศร้อน (continentality) ภาคตะวันตกบริเวณชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน (Mediterranean Sea) มีสภาพภูมิอากาศแบบชายทะเลโดยมีฤดูร้อนที่อบอุ่นไม่อบอ้าวและฤดูหนาวที่หนาวเหน็บและชื้น 
      ลักษณะทางภูมิศาสตร์ของตะวันออกกลางมีบทบาทสำคัญในการควบคุมและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโดยการชะลอความอบอุ่น ควบคุมการกระจายของความอบอ้าว (humidity)และการตกของฝน(precipitation)ในภูมิภาค

     3.1 ฤดูร้อน (summer)
      โดยทั่วไปฤดูร้อนในตะวันออกกลางนั้นจะมีอุณหภูมิสูง อากาศร้อนแห้ง มีฝนตกเป็นบางครั้งบางคราวเท่านั้น อัตราการระเหยไอน้ำสูงและเกือบจะไม่มีปรากฏการณ์ของพายุไซโคลนปรากฏขึ้นเลยตลอดฤดูร้อน
      ตลอดฤดูร้อนอุณหภูมิสูงมาก โดยทั่วไปความแตกต่างของอุณหภูมิในตอนกลางวันของเขตต่างๆ ในตะวันออกกลางปรากฏเห็นได้ในทุกฤดู ในฤดูร้อนอัตราความแตกต่างจะสูงมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริเวณใจกลางหรือที่ห่างไกลจากชายฝั่งทะเลและมหาสมุทร ในบริเวณใกล้ชายฝั่งอุณหภูมิลดน้อยลง อาทิเช่น ในอียิปต์ แถบชายฝั่งทะเลแดง (Red Sea) นั้นตลอดกลางคืนอากาศหนาวมากจนบางครั้งไอน้ำกลั่นตัวเป็นหยดน้ำค้างส่งผลให้ปรากฏหมอก (Fog) กระจัดกระจายยามเช้าตรู่ในช่วงฤดูใบไม้ผลิและต้นฤดูร้อน ปรากฏการณ์ทำนองเดียวกันยังเกิดขึ้นหรือพบเห็นได้ในบริเวณลุ่มแม่น้ำไนล์ตอนเหนือและแถบชาวฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียนทั้งในอียิปต์และลิเบีย
      ส่วนแถบชายฝั่งมหาสมุทรอินเดียระดับอุณหภูมิสูงสุดยืดเยื้อจนกระทั้งถึงเดือนสิงหาคม (August) ในฤดูร้อนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงต้นฤดูลมร้อนจะพัดมาจากทางทิศใต้นำความแห้งแล้งแจกจ่ายทั่วภูมิภาคตะวันออกกลาง ลมร้อนที่สำคัญๆในตะวันออกกลางมีดังต่อไปนี้

            1) ชะมัล (Shamal)
            ชะมัล คือลมพายุร้อนจากทิศเหนือและทิศตะวันตกเฉียงเหนือที่พัดเข้าสู่บริเวณลุ่มน้ำไทกริสและยูเฟรติส 
            2) ซัด-ออ บิสต์ บัด (Sad-auBist Bad) 
            ลมนี้เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ลมหนึ่งร้อยยี่สิบวัน” (120 Day Wind) ซึ่งเป็นลมพายุฝนที่
ร้อนแรงมาก ลมพายุนี้พัดอยู่ในที่ราบลุ่มซิสตาน (Sistan Basins) ในช่วงฤดูร้อน
            3) ลมพายุท้องถิ่นต่างๆ (Local Winds)
            ในตะวันออกกลางมีลมพายุท้องถิ่นปรากฏอยู่ทั่วบริเวณในฤดูร้อน อาทิเช่น ลมคอมซีน(Khamseen) พัดอยู่ในอียิปต์ ลมพายุฆิบลี (Ghibli) ในลิเบีย ลมพายุชะลูร (Shalour) ในซีเรียและเลบานอน ลมพายุชัรกีย์ (Shargi) ในอิรัก ลมพายุซิมูม (Simoom) หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ลมพายุพิษพัดอยู่ในอิหร่าน ลมพายุท้องถิ่นเหล่านี้เป็นลมพายุฝุ่นหรือลมพายุทรายที่มีความรุนแรงมาก
     3.2 ฤดูหนาว (winter)
     โดยเฉลี่ยแล้วฤดูหนาวในตะวันออกกลางจะมีสภาพภูมิอากาศปานกลาง(mild) ฝนตกชุกชุมและปรากฏอิทธิพลลมหนาวบางครั้งคราว(ที่พัดมาจากทางตอนเหนือ) ภาคเหนือของภูมิภาคตะวันออกกลางตั้งอยู่ในแนวละติจูดที่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของสภาพภูมิอากาศทะเลเมดิเตอร์เรเนียน (Mediterranean climate) ที่มีฝนตกชุกชุมและมีฝนตกมากที่สุดในฤดูหนาวโดยเฉลี่ยเมื่อเปรียบเทียบกับบริเวณอื่นๆของภูมิภาคตะวันออกกลาง ฝนที่ตกในบริเวณนี้สืบเนื่องมาจากอิทธิพลพายุไซโคลน หิมะและหมอกอันหนาแน่นปรากฏอยู่ทั่วไปในบริเวณที่ราบสูงของแถบนี้
     ฝนฤดูหนาวในตะวันออกกลางเป็นลักษณะพิเศษของสภาพภูมิอากาศทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ซึ่งผูกพันกับพายุไซโคลนที่พัดจากตะวันตกสู่บริเวณทิศตะวันออก บริเวณที่ฝนตกมากที่สุดในช่วงฤดูหนาวคือ ตอนเหนือของตะวันออกกลางแถบเทือกเขาเอลเบอร์ซในอิหร่านและบริเวณที่ราบฝั่งทาง

ตอนใต้ของทะเลสาบเคสเปียนซึ่งมีปริมาณฝนตกปประจำปีมากกว่า 200 มิลลิเมตร ภาคเหนือตุรกีมากกว่า 1,500 มิลลิเมตร ภาคใต้ตุรกีแถบชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียนมากกว่า 1,000 มิลลิเมตร ภาคตะวันตกและที่ราบสูงในซีเรีย เลบานอน อิสราเอลและปาเลสไตน์มีปริมาณฝนตกไม่ต่ำกว่า 600 มิลลิเมตร 
     โดยทั่วไปฤดูหนาวของตะวันออกกลาง เริ่มขึ้นในปลายเดือนธันวาคมหรือต้นเดือนมกราคม และโดยเฉลี่ยจะมีฝนตกมากที่สุดในบริเวณซีกตะวันตกของภูมภาคตะวันออกกลาง
แหล่งน้ำในตะวันออกกลาง
จากรายงานสถิติต่างๆ พบว่า โดยเฉลี่ยน้ำจืดในตะวันออกกลางมีอยู่ 9.4 % เท่านั้นเมื่อเปรียบเทียบกับภูมิภาคอื่นๆ ทั่วโลก และพลเมืองแต่ละคนใช้น้ำจืดประมาณ 1,844 ลูกบาศก์เมตรต่อปี ในขณะที่โดยเฉลี่ยทั่วโลกแต่ละคนใช้น้ำประมาณ 12,900 ลูกบาศก์เมตรต่อปีดยพื้นฐานแห่งข้อมูลดังกล่าวนี้อาจสรุปได้ว่า ตะวันออกกางคือ ภูมิภาคหนึ่งของโลกที่ขาดดุลทรัพยากรน้ำอย่างรุนแรง 
แหล่งทรัพยากรน้ำจืด (Sources of Water) 
     1) น้ำฝน (Precipitation) 
     น้ำจืดจากน้ำฝนที่ตกลงมาและถูกเก็บกักอยู่ตามแหล่งต่างๆในธรรมชาติมีปริมาณจำกัดมาก พื้นที่เพาะปลูกเพียง 3 % เท่านั้นจากพื้นที่เกษตรกรรมทั้งหมดของตะวันออกกลางที่พึ่งพาน้ำฝนในการเกษตร บริเวณพื้นที่ดังกล่าวนี้จะมีฝนตกเกินกว่า 300 มิลลิเมตรต่อปี ในบริเวณที่ราบสูงทางตอนเหนือของภูมิภาคมีแหล่งน้ำมากเกินความต้องการเพราะมีฝนตกชุกชุม แต่ลักษณะภูมิประเทศในแถบดังกล่าวนี้ไม่เหมาะสมกับการเกษตร 
     โดยสรุปแล้ว แม้บริเวณพื้นที่บางแห่งของตะวันออกกกลางจะมีแหล่งทรัพยากรน้ำจืดมากเกินความต้องการ แต่ก็ไม่อาจกำหนดเป็นตัวชี้วัดที่ดีเกี่ยวกับทรัพยากรน้ำของภูมิภาคนี้ได้ นอกจากนี้น้ำฝนปริมาณมากที่ตกลงมาต้องสูญเสียไปกับการระเหยอย่างรวดเร็วอันเนื่องมาจากสภาพภูมิอากาศที่ร้อนจัดและแห้งแล้ง


     2) แม่น้ำสำคัญ (Major River Systems)
ระบบแม่น้ำของตะวันออกกลางประกอบด้วย แหล่งน้ำบนพื้นดินที่มีความสำคัญมาก เนื่องจากลักษณะภูมิประเทศที่ไม่เอื้ออำนวยและความแห้งแล้ง แม่น้ำสายสำคัญๆในตะวันออกกลางจึงมีลักษณะจำกัดค่อนข้างมากทั้งในด้านคุณภาพและปริมาณ ระบบแม่น้ำใหญ่ๆมีสามสาย ได้แก่ แม่น้ำไนล์ (Nile River) ตั้งอยู่ด้านตะวันตกเฉียงใต้ของตะวันออกกลาง (ทางฝั่งแอฟริกา) แม่น้ำสายที่สองและสามคือ แม่น้ำไทกริส (Tigris) และยูเฟรติส (Euphrates) ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของภูมิภาค ทั้งสามนี้ถือได้ว่าเป็นแม่น้ำขนาดใหญ่และสำคัญของโลก ลักษณะที่คล้ายกันของลำน้ำทั้งสามสายนี้คือ มีแหล่งกำเนิดในแถบที่ราบสูงที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยน้ำและไหลผ่านทะเลทรายต่าง 

     แม่น้ำไทกริสและยูเฟรติส
          แม่น้ำไทกริสและยูเฟรติสมีต้นกำเนิดทางตอนเหนือของภูมิภาคตะวันออกกลางแถบที่ราบสูงอานาโตเลียหรือบริเวณภาคตะวันออกของตุรกี แม่น้ำทั้งสองสายนี้เป็นแหล่งน้ำอุดมสมบูรณ์และทั้งสองไหลลงสู่ทางทิศใต้ผ่านซีเรียและอิรักตามลำดับและหลังจากนั้นก็บรรจบกันที่จังหวัด กุรนะฮฺ (Qurnah) ในอิรัก กลายเป็นลำน้ำใหญ่ที่เรียกว่า ลำน้ำชัตตุลอาหรับ” (Shat al-Arab Waterway) ไหลลงสู่อ่าวอาหรับ (อ่าวเปอร์เซีย) นับระยะทางจากกุรนะฮฺจนถึงแนวชายฝั่งอ่าวอาหรับลำน้ำชัตตุลอาหรับมีความยาวประมาณ 160 กิโลเมตร แม่น้ำยูเฟรติสยาวกว่าแม่น้ำไทกริส มีต้นกำเนิดในบริเวณจุดบรรจบของแม่น้ำที่เล็กกว่าสองสาย คือ แม่น้ำการาซู (Karasu River) และแม่น้ำมูรัต (Murat River) ใกล้จังหวัดกีบัน (Keban) ทางภาคตะวันออกของตุรกี แม่น้ำยูเฟรติสมีความยาวประมาณ 2,700 กิโลเมตร ระบายน้ำแก่บริเวณที่ราบลุ่มซึ่งมีพื้นที่ประมาณ 444,000 ตารางกิโลเมตร ประมาณ 28 % ของพื้นที่ทั้งหมดนี้อยู่ในตุรกี 17 % ในซีเรียและ 40 %ในอิรัก แม่น้ำยูเฟรติสมีสาขาย่อย 2 สาขา (2 แคว) แยกตัวออกไปในบริเวณประเทศซีเรีย ทั้งสองมีชื่อว่า บาลิค (Balikh Tributary) และคาบูร (Khabur Tributary) ตามลำดับ 
           โดยเฉลี่ยแม่น้ำยูเฟรติสให้น้ำแก่ตะวันออกกลางประมาณ 35.6 พันล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ส่วนแม่น้ำไทกริสนั้นยาวประมาณ 1,840 กิโลเมตร ให้ทรัพยากรน้ำประมาณ 48.6 พันล้านลูกบาศก์เมตร ระบายน้ำแก่พื้นที่มากกว่า 111,655 ตารางกิโลเมตร ในบริเวณอิรักมีสาขาแม่น้ำ อาทิเช่น แม่น้ำเกรทเซบ (Great Zab) ลิตเติลเซบ (Little Zab) อุดายัม (Udhayam) และดิยาลา (Diyala) เชื่อมติดกับไทกริสจากฝั่งซ้าย แม่น้ำไทกริสให้น้ำจืดมากกว่าแม่น้ำยูเฟรติสประมาณ 35 %
     แม่น้ำไนล์ (Nile River)
          แม่น้ำไนล์ คือ แม่น้ำที่ใหญ่และยาวที่สุดในโลก มีความยาวถึง 6,669 กิโลเมตร ระบายน้ำแก่ที่ราบลุ่มประมาณ 2.98 ล้านตารางกิโลเมตร หรือประมาณหนึ่งส่วนสิบของพื้นที่ทวีปแอฟริกาทั้งหมด ปริมาณน้ำที่วัดได้ ณ เขื่อนอัสวาน (Aswan Dam) ทางภาคใต้ประเทศอียิปต์โดยเฉลี่ยอยู่ในระดับ 83,570 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี 
      สาขาแม่น้ำขนาดใหญ่ที่ไหลเข้าบรรจบกับแม่น้ำไนล์ในบริเวณซูดาน คือ ลำน้ำบลูไนล์ (Blue Nile) และลำน้ำอัตบาร่า (Atbara) ซึ่งทั้งสองนี้มีต้นกำเนิดในบริเวณที่ราบสูงของประเทศเอธิโอเปียที่ซึ่งมีฝนตกชุกชุมตลอดฤดูร้อน (มรสุมฤดูร้อน)
     แม่น้ำแถบโฟลด์เบลท์ (Rivers of Fold Belt)
          บริเวณที่ราบสูงของตะวันออกกลาง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แถบเอเชียไมเนอร์ (Asia Minor) และที่ราบสูงในอิหร่านมีธารน้ำหลายสายที่ให้น้ำเพียงพอตลอดปี ลำธารเหล่านี้ได้แก่ บูยุกเมนเดอรส์ (Buyuk Menders) ซึ่งอยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ของอานาโตเลีย จีดิซ (Gediz) และโสการายา (Sokaraya) ไหลอยู่ในแถบที่ราบสูงระหว่างเมืองหลวงใหม่ อังการา” (Ankara) กับเมืองหลวงเก่า อิสตันบูล” (Istambul) ส่วนลำน้ำกิซิล (Kizil) ซึ่งระบายน้ำแก่พื้นที่ส่วนใหญ่ในใจกลางภาคเหนือที่ราบสูงอานาโตเลีย และยีซิล (Yesil)ที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงกัน ทั้งสองไหลลงสู่ทะเลดำ (Black Sea) 
     แม่น้ำในเขตลีวานท์ (Levant Rivers) 
          แม่น้ำในเขตนี้มีอยู่ 3 สาย ได้แก่ แม่น้ำจอร์แดน (Jordan River) แม่น้ำยาร์มูก (Yarmuk River) และแม่น้ำโอรันติส (Orontes River) ทั้งสามระบายน้ำแก่เขตลีวานท์ และมีความสำคัญทางด้านเศรษฐกิจและการเมืองเป็นอย่างยิ่ง กล่าวได้ว่าลุ่มน้ำจอร์แดนซึ่งมีพื้นที่ประมาณ 18,300 ตารางกิโลเมตรเป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำที่ใหญ่และสำคัญที่สุดในเขตลีวานท์
          สมควรกล่าวถึงแหล่งน้ำตามธรรมชาติอีกประเภทหนึ่งซึ่งมีอยู่ในตะวันออกลางจำนวนไม่มากนัก ได้แก่ ทะเลสาบน้ำเค็มและน้ำจืดขนาดเล็ก ทะเลสาบน้ำจืดหลายแห่งพบเห็นในบริเวณรอบนอกของที่ราบลุ่มแม่น้ำไทกริสและยูเฟรติส ส่วนทะเลสาบน้ำเค็มส่วนใหญ่อยู่ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนืออิหร่านและที่ราบสูงอานาโตเลีย ทะเลสาบอุรเมีย (Urmia Lake) ในอิหร่านและทะเลสาบแวน (Van Lake) ในตุรกีมีขนาดกว้างและใหญ่ที่สุดในแถบนี้
     3) น้ำบาดาล (Ground Water) 
     น้ำบาดาล ถือได้ว่าเป็นแหล่งน้ำจืดที่สำคัญต่อการบริโภค และการเกษตร ฯลฯ มาช้านานของตะวันออกกลาง การศึกษาค้นคว้าด้านธรณีวิทยาและน้ำพบว่ามีแหล่งน้ำบาดาลขนาดใหญ่หลายแห่งในตะวันออกกลาง โดยปกติแล้วจะอยู่ในรูปแบบของร่องน้ำใต้พื้นดิน (aquifers) น้ำประเภทนี้เรียกว่า น้ำที่ถูกกักไว้ใต้ดินตามธรรมชาติ” (fossil water) หรือ น้ำบาดาลนั้นเอง
     บริเวณที่พบน้ำบาดาลซึ่งอยู่ใต้พื้นดินลึกมากได้แก่ เขตทะเลทรายนะฟูด (Nafud Desert) ริยาด (Riyadh) ทะเลทรายรุบอัลคอลี (Rub al-Khali) และแถบทะเลทรายต่างๆทางด้านตะวันตกของตะวันออกกลาง แหล่งน้ำเหล่านี้บางแห่งเนื่องจากแรงกดดันจึงปรากฏเป็นนํ้าพุให้ความอุดมสมบูรณ์แก่สภาพแวดล้อม ปรากฏการณ์เช่นนี้พบเห็นเป็นระยะๆในทะเลทรายทั่วตะวันออกกลางและมักเรียกกันว่า โอเอซิส” (oasis) หรือ แหล่งอุดมสมบูรณ์ในทะเลทรายทรัพยากรน้ำดังกล่าวนี้ถูกเก็บสะสมมาช้านานในช่วงที่ปรากฏฝนตกชุกชุมแห่งยุคหลังสุดที่ปกคลุมด้วยน้ำแข็ง 

     4) น้ำกลั่น (Desalination) 
     การกลั่นน้ำจืดจากน้ำทะเลถือเป็นแหล่งน้ำจืดที่สำคัญอีกแหล่งหนึ่งของตะวันออกกลาง ระบบการกลั่นน้ำจะมีประโยชน์แก่เขตต่างๆที่อยู่ใกล้แหล่งน้ำเค็มหรือทะเลเท่านั้น แต่ระบบนี้ยังมีประสิทธิภาพจำกัดอันสืบเนื่องมาจากการดำเนินการเกี่ยวข้องกับความชำนาญทางด้านเทคโนโลยี (technological skill) และค่าใช้จ่ายสูงมาก (high cost) 

สังคมตะวันออก

 สำหรับชีวิตของชาวตะวันออกกลางโดยทั่วไปนั้นในอดีตพวกเขาจะอาศัยอยู่ด้วยกันในหมู่บ้านเล็กๆ หลังจากนั้นก็ได้มีการอพยพเข้าสู้เมืองใหญ่ๆที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจมากขึ้นตามความเจริญของดินแดนเหล่านั้น ส่วนในเขตแห้งแล้งแต่ยังพออยู่ได้ก็จะมีพวกเร่รอนหรือกึ่งเร่รอนอาศัยอยู่
       ในหมู่บ้าน ประชาชนจะประกอบอาชีพกสิกรรมหรือทำการค้าขนาดเล็ก เจ้าที่ดินจะเป็นเจ้าของที่ดินในหมู่บ้านเป็นส่วนมาก มีการเลี้ยงสัตว์อยู่ทั่วไปเช่น แกะและแพะ ตลอดจนสัตว์เลี้ยงที่ใช้ทำงานคือลาและวัว การเลี้ยงอูฐจะมีอยู่ตามโอเอซีส (Oases) ที่แห้งแล้ง
       นอกจากชีวิตในหมู่บ้านแล้ว ยังมีชาวเบดุอิน (Beduin) ที่เร่ร่อนไปในดินแดนต่างๆของเอเชียะวันตกอีกด้วย พวกเขาจึงไม่มีที่อยู่เป็นหลักเป็นแหล่ง อาชีพของชาวเบดูอิน (หรือบะดาวีในภาษาอาหรับ) จะอาศัยอยู่ร่วมกันในกระโจมและเร่ร่อนไปเรื่อยๆพาหนะที่ชาวเบดูอินใช้ก็คืออูฐและลา เมื่อความเจริญเข้ามามากขึ้นคาราวานอูฐก็ค่อยๆหมดไป เพราะมีถนนเข้ามาแทนที่
       สำหรับชาวเบดูอินเรื่องของตระกูลถือเป็นเรื่องสำคัญ หัวหน้าของตระกูลเรียกว่าชัยค์ (Sheiks) ชัยค์จะได้รับความเคารพจากคนในตระกูล ชัยค์จึงได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่เป็นผู้ตัดสินความไปพร้อมๆกัน เมื่อโลกเจริญขึ้นการเร่รอนไปในดินแดนต่างๆก็ค่อยๆลดลงไป ชาวเบดูอินจึงอพยพไปอยู่ในเมืองมากขึ้นส่วนเบดูอินที่ต้องการจะรักษาชีวิตแบบเดิมเอาไว้ก็มักจะทำกสิกรรมอยู่นอกเมือง
       ในเมืองโดยเฉพาะเมืองหลวงใหญ่ๆ ของตะวันออกกลางการขยายจะเป็นไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะที่กิจการขายน้ำมันประสบความสำเร็จสูงสุดนับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1973 เป็นต้นมา เมืองที่สำคัญในตะวันออกกลางส่วนใหญ่จะมีความรุ่งเรืองมาช้านานนับตั้งแต่สมัยแห่งความรุ่งเรืองของอาณาจักรมุสลิมมาแล้ว ส่วนเมืองสำคัญที่เกิดขึ้นมาในระยะหลังได้แก่เมืองปอร์ตซาอีดในอียิปต์และเมืองเทลอาวีฟในอิสราเอล
       เมืองที่มีประชากรอยู่จำนวนมากในตะวันออกกลางได้แก่ เมืองอิสตันบูล อังการา อิสมีรและอนานาในตุรกี เมืองอเล็ปโปและดามัสกัสในซีเรีย กรุงเตหะหรานและเมืองตาบริซในอิหร่าน เมืองไฮฟาและเยรูซาเล็มในอิสราเอล ส่วนใหญ่ของเมืองที่กล่าวมาข้างต้นมีส่วนของเมืองเก่าที่มีกำแพงล้อมรอบประกอบด้วย และมีส่วนที่เป็นเมืองใหญ่ที่อยู่นอกเขตกำแพงล้อมรอบนี้ค่อยๆถูกทำลายไปตามความจำเป็นของการวางผังเมืองสมัยใหม่ มัสยิด วัง และตึกที่ใช้ในการปกครองของสมัยเก่ามักจะประกอบอยู่ในเมืองเก่าของตะวันออกกลาง ซึ่งในเวลานี้ได้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์ไปแล้ว ในเขตที่ตั้งอาคารของเมืองเก่ามักจะประกอบไปด้วยตรอกซอยแคบๆ ตลาด ตลอดจนร้านค้าจำนวนมาก และแผงลอยที่วางเรียงรายกัน ในขณะที่เขตเมืองใหญ่จะมีสภาพไม่แตกต่างไปจากประเทศตะวันตกที่มีที่ทำการของราชการ ธนาคาร ศูนย์การค้า ต่อจากบริเวณตลาดการค้าจะเป็นที่อยู่อาศัยซึ่งมักจะประกอบไปด้วยบ้านเรือนที่ทันสมัย โรงเรียน โรงพยาบาล ฯลฯ ในขณะที่คนร่ำรวยมีบ้านขนาดใหญ่นั้นคนยากจนก็จะอยู่ในสลัมห่างจากตัวเมืองออกไป

วัฒนธรรมตะวันออกกลาง

 อิทธิพลของศาสนาอิสลามที่เป็นวิถีชีวิตของคนส่วนใหญ่ในตะวันออกกลาง ทำให้คนหลายเผ่าพันธุ์ไม่ว่าจะเป็นชาวเตอร์ก ชาวอาหรับ ชาวเปอร์เชีย ซึ่งเป็นสามเผ่าพันธุ์ใหญ่ของตะวันออกกลางหล่อหลอมอยู่ในวิถีชีวิตของวัฒนธรรมมุสลิม ความสำนึกในความเป็นมุสลิม การทำตามคำสอนของศาสนาที่กล่าวว่ามุสลิมเป็นพี่น้องกันไม่ว่าจะอยู่ในที่ใดของโลก ความเชื่อหลักที่ว่าอัลลอฮฺ (ซบ) เป็นพระผู้เป็นเจ้าแต่เพียงพระองค์เดียว และนบีมุฮัมมัด (ศอลฯ) เป็นศาสนทูตของพระองค์ การมีคัมภีร์กุรอานเป็นทางนำ มีจริยวัตร(หะดีษ) ของท่านศาสดาเป็นหลักคำสอน มีข้อกำหนดทางศาสนาที่เหมือนกันเช่น การทำฮัจญ์ การถือศีลอด การสละทรัพย์สินแก่คนยากจน และการละหมาด ทั้งหมดนี้ทำให้วัฒนธรรมของคนแถบนี้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยมีกฎหมายอิสลาม (Shariah) เป็นตัวประกอบสำคัญ อีกประการหนึ่งที่ทำให้ชาวอาหรับมีอิทธิพลต่อวัฒนธรรมอิสลามก็คือภาษาอาหรับอันเป็นภาษาในคัมภีร์กุรอานที่ชาวมุสลิมส่วนใหญ่อ่านได้ ด้วยเหตุนี้ภาษาอาหรับจึงมีบทบาทสำคัญอยู่ใน ประเพณีและครอบครัวประชาชนในตะวันออกกลางที่โดยทั่วไปยังเป็นผู้ที่ยึดมั่นต่อศาสนาอิสลามและประเพณีของพวกเขาอย่างเคร่งครัดท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงต่างๆของศตวรรษที่ 20 ที่เข้ามาในอาณาบริเวณนี้ 
       1. การแต่งงาน (Marriage)
       ครอบครัวของชาวตะวันออกกลางเป็นครอบครัวใหญ่ (extended family) ที่มีปู่ย่าตายาย พ่อ แม่ และบุตรอยู่ในบ้านเดียวกันผู้อาวุโสในครอบครัวจะได้รับความเคารพ บิดาเป็นผู้ตัดสินในเรื่องต่างๆ โดยทั่วไปการเลือกคู่แต่งงานจะทำการคัดเลือกโดยครอบครัว การแต่งงานกันในหมู่ญาติยังเป็นที่นิยม 
       2. การแต่งกาย (Dressing)
       สตรีในตะวันออกกลางจะแต่งกายตามหลักการอิสลามที่ให้สตรีมุสลิมแต่งกายอย่างมิดชิด (หิญาบ)
       นอกจากนี้ การต้อนรับแขกด้วยความเอื้อเฟื้อถือเป็นมารยาทสำคัญของภูมิภาคนี้ ส่วนอาชญากรรมที่ถือว่าเป็นเรื่องร้ายแรงที่จะต้องลงโทษด้วยมาตรการที่รุนแรงได้แก่ การฆาตกรรม การทำผิดทางเพศ
       แม้ว่าความรู้สึกชาตินิยมจะมีอยู่โดยทั่วไปแต่ก็ไม้เข้มแข็งเท่าความภักดีที่ผู้คนของตะวันออกกลางมอบให้แก่ครอบครัวและตระกูล จากศตวรรษที่ 7-17 ถึงแม้ว่าศูนย์กลางของภูมิภาคจะเปลี่ยนจากนครมักกฮฺ ( Makkah ) และมาดีนะฮฺ ( Madinah ) ไปยังนครดามัสกัส แบกแดด ไคโรและอิสตันบูล แต่อิทธิพลอันลึกซึ่งของอิสลามและภาษาอาหรับก็ได้รวมอาณาบริเวณนี้ส่วนมากให้เป็นหน่วยสังคมวัฒนธรรมเดียวกันนอกจากอิสราเอล 

ที่มาhttp://blog.eduzones.com/redirect.phpurl=http://www.cis.psu.ac.th/depis/elearning/middleeast/society.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น